วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สารในแหล่งน้ำธรรมขาติ

 สารในแหล่งน้ำธรรมชาติ

น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด  สิ่งมีชีวิตใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำเพื่อดำรงชีวิตในด้านต่างๆเช่น  เป็นที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ 

          ดังที่ทราบแล้วว่าในโลกนี้มีน้ำอยู่ประมาณ  3  ใน 4 ส่วน  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำในมหาสมุทรถึงร้อยละ  97.41  ที่เหลือประมาณร้อยละ 2.59  จะเป็นน้ำจืด  แต่น้ำจืดที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงนั้นมีเพียงร้อยละ 0.014 เท่านั้น  เนื่องจากเป็นน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็งร้อยละ 1.984 และอีกร้อยละ 0.592  เป็นน้ำใต้ดิน



ถึงแม้ว่าแหล่งน้ำจืดที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จะมีอยู่ในปริมาณน้อย  แต่น้ำที่มนุษย์ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็สามารถหมุนเวียนนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นวัฏจักร  โดยปกติแล้วน้ำที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มาจากแหล่งใหญ่ๆ  3  แหล่งด้วยกันคือ
          1. หยาดน้ำฟ้า (precipitation)  เป็นน้ำที่ได้จากบรรยากาศ  เช่น น้ำฝน  น้ำค้าง  หิมะ  ลูกเห็บ  เมฆ  หมอก  ไอน้ำ  เป็นต้น
          2. น้ำผิวดิน (surface water)  เป็นน้ำที่ได้มาจากน้ำในแม่น้ำ  ลำคลอง  ทะเลสาบ  ทะเล  และมหาสมุทร  เป็นต้น
          3. น้ำใต้ดิน (ground  water)  เป็นน้ำบาดาลที่อยู่ใต้ระดับผิวดินที่มนุษย์ขุดและสูบขึ้นมาใช้  เช่น  น้ำบ่อ  และน้ำบาดาล  เป็นต้น

 มลพิษทางน้ำและการจัดการ

           มลพิษทางน้ำ (water  pollution)  หมายถึง  ภาวะของน้ำที่มี  มลสาร (pollutant)  ปนเปื้อนในระดับที่ทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนไปจนมนุษย์และสิ่งมีชีวิตไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้
             การใช้ทรัพยากรน้ำของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน  ตลอดจนในการประกอบอาชีพและการอุตสาหกรรมต่างๆ  เป็นการเพิ่มมลสารในแหล่งน้ำ  ดังนั้นแหล่งที่มาของน้ำเสียแต่ละแหล่งจึงเป็นสาเหตุทำให้น้ำเสียได้หลายลักษณะดังจะกล่าวต่อไป

          แหล่งที่มาของน้ำเสีย

           1.  จากธรรมชาติ เกิดจาการย่อยสลายซาดพืชและซากสัตว์  และสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำโดยจุลินทรีย์  ซึ่งจุลินทรีย์มีการใช้แก๊สออกซิเจนไปช่วยในการย่อยสลาย  มีผลทำให้ปริมาณแก๊สออกซิเจนในแหล่งน้ำนั้นลดลง  นอกจากนี้อาจเกิดจากกระบวนการชะล้างพังทลายของดินทำให้ตะกอนดินถูกพัดพาลงในแหล่งน้ำ  ทำให้แหล่งน้ำนั้นขุ่นข้น  สิ่งมีชีวิตต่างๆในแหล่งน้ำไม่สามารถดำรงชีวิตได้  และยังทำให้แหล่งน้ำนั้นตื้นเขินอีกด้วย  ดังภาพที่ 23-4



            2.  จากแหล่งชุมชนได้แก่  น้ำเสียที่มาจากแหล่งที่พักอาศัยและสถานประกอบการต่างๆ  เช่น  โรงแรม  โรงพยาบาล  ร้านค้า  ตลาด  เป็นต้น  น้ำจากแหล่งต่างๆเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีสารอินทรีย์  เชื้อโรคและสารเคมีเป็นองค์ประกอบ


           3.  จากโรงงานอุตสาหกรรม  เป็นน้ำเสียที่เกิดจากน้ำที่มาจากกระบวนการต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม  เช่น  น้ำจากการชะล้างสิ่งสกปรกของเครื่องจักร  พื้นโรงงาน  น้ำจากกระบวนการผลิตที่มีสารเคมีและโลหะที่เป็นอันตรายเจือปนอยู่  เช่น  สารปรอท ตะกั่ว  แคดเมียม  แมงกานีส  โครเมียม  และน้ำมัน  น้ำทิ้งเหล่านี้เมื่อปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ  และทำให้เกิดการสะสมสารพิษในโซ่อาหารได้  นอกจากนี้น้ำทิ้งที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมประเภทผลิตอาหารจะมีสารอินทรีย์เจือปนอยู่สูง  เมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำทำให้แหล่งน้ำนั้นเน่าเสีย  มีกลิ่นเหม็นอันเนื่องมาจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในน้ำ  และบางครั้งทำให้แหล่งน้ำมีอุณหภูมิสูงด้วย
          4.  จากการเกษตรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เป็นน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนของสารเคมี  วัตถุมีพิษที่ใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร  รวมทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีหลายชนิด  เพื่อเพิ่มผลผลิต  ทำให้มีมลสารตกค้างในน้ำ  ดิน  อากาศ และในผลผลิต  เมื่อฝนตกสารเหล่านี้จะถูกชะล้างลงสู่แห่ลงน้ำทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำได้รับอันตราย  นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์  เช่น  การเลี้ยงสุกร  ไก่  ปลา  และกุ้ง  ยังเป็นต้นกำเนิดของน้ำเสียที่เกิดจากการล้างคอกสัตว์เลี้ยงหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งมีสารอินทรีย์เจือปนอยู่สูง
           5. จากการทำเหมืองแร่ การทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ เช่น การทำเหมืองแร่ดีบุก พลวง และเหมืองพลอย ต้องมีการขุดเจาะดินขึ้นมาจึงทำให้เกิดตะกอนดินและทำให้น้ำในแหล่งน้ำขุ่นข้น   นอกจากนี้อาจมีอาการปนเปื้อนของโลหะหนักจำพวกปรอท ตะกั่ว แคดเมียมลงสู่แหล่งน้ำ  และยังเป็นสาเหตุทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น